8 พ.ค. 2560

อยู่อีสานอยากปลูกผักหวานป่าให้สำเร็จ ต้องดูคลิปนี้ให้จบ

ทุกอย่างซ่อนอยู่ในนี้หมดแล้ว ..ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ 



สาเหตุที่ทำคลิปนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ความรู้คนปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสาน ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการปลูก แต่ยังอยากให้กำลังใจในการปลูกผักหวานป่า เพราะเชื่อว่าการปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป จากประสบการณ์ที่ตัวเองได้เริ่มต้นลองผิดลองถูก ทำตามคนอื่นมาก็เยอะครับ และลองสังเกต ลองหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับการศึกษาเปรียบเทียบ ทดลอง .. วันนี้ผมคิดว่าความคิดนี้ค่อย ๆ แทรกความเชื่อเรื่องผักหวานป่าจะเติบโตได้ดีนั้นจะต้องมีพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงเป็นตัวช่วยให้ผักหวานป่าเติบโต ซึ่งยังเป็นความเชื่อมากกว่าความเป็นจริง อาทิเช่น

  1. พี่เลี้ยงช่วยให้ต้นผักหวานป่าเติบโต
  2. เมื่อต้นพี่เลี้ยงตายผักหวานป่าก็จะตายไปด้วยกัน
  3. การปลูกต้นผักหวานป่า กับไม้พี่เลี้ยงในถุงเดียวกัน จะทำให้ผักหวานป่ารอดตายและเติบโต
  4. การตอนกิ่งผักหวานป่า เป็นทางออกสำหรับคนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดแล้วล้มเหลว
ซึ่งผมได้ทำคลิปแต่ละคลิปเพื่อเฉลยความเป็นจริงที่หลาย ๆ คนหลงเชื่อกันมาโดยตลอด เหมือนความเชื่อต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว...

ผมจะอธิบายเหตุผลของการเติบโต และการตั้งข้อสังเกตในแต่ละประเด็น
1. พี่เลี้ยงช่วยให้ผักหวานโต ... ความเชื่อนี้ถูกเพียง 50 %  อันเนื่องจาก ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นที่ชอบสิ่งแวดล้อม ครึ่งร่ม ครึ่งแดด ไม่ชอบแสงแดดจัดจนเกินไป และไม่ชอบอุณหภูมิที่สูงเกินไป ดังนั้นผักหวานป่าจะโตได้ดี จะต้องมีแสงแดดที่พอเหมาะ ซึ่งผมแนะนำว่าควรเป็นแสงแดดยามเช้าไปหาช่วงเที่ยง ในช่วงบ่ายเป็นแสงแดดที่ให้อุณหภูมิสูง ซึ่งถ้าหากมีแสงแดดตลอดทั้งวัน จะทำให้เกิดอาการใบเหลือง หรือ ที่ผมเรียกว่าอาการ "เหลืองแดด"  (ซึ่งจะอธิบายต่อในข้อที่ 2)

         ส่วนความเชื่อที่ว่ารากของต้นไม้พี่เลี้ยงจะช่วยให้อาหารกับต้นผักหวานป่า ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมากกว่าความจริง ..เพราะจากการทดลอง พบว่า ต้นผักหวานป่าที่ไม้พี่เลี้ยงเช่นกัน ในสภาพดินที่แตกต่างกัน  การเติบโตของผักหวานป่าแตกต่างกัน กล่าวคือ 
           - ในสภาพดินหลวม มีไม้พี่เลี้ยง ผักหวานป่าโตได้ดี 
           - ในสภาพหน้าดินตื้น มีไม้พี่เลี้ยงชนิดเดียวกัน ผักหวานป่ามีอัตราการเติบโตต่ำ

2. เมื่อต้นพี่เลี้ยงตาย ผักหวานป่าก็จะตายไปด้วยกัน ประเด็นนี้ เป็นความเชื่อที่ผิด 100% เลยครับ เพราะว่าพี่เลี้ยงผักหวานป่า มีหน้าที่หลักคือ บังร่มเงา ใหักับต้นผักหวานป่า  ในขณะที่ ผักหวานป่าเองนั้นก็ต้องการแสดงแดดแบบรำไร และถ้าหากได้รับแสงแดดตลอดเวลาจะเกิดอาการเหลืองแดด สะสมนาน ๆ จะทำให้การเติบโตชะงัก และตายในที่สุด 
         ด้วยเหตุผลนี้ก็เลยทำให้หลายคนเชื่อว่า เมื่อพี่เลี้ยงตายแล้ว ผักหวานป่าก็จะตายไปด้วย .. ความเป็นจริงแล้ว พี่เลี้ยงไม่ได้ช่วยให้ผักหวานป่าอยู่รอด หรือตายไป เพราะหน้าที่หลักของไม้พี่เลี้ยงคือให้ร่มเงา เพราะฉะนั้นแล้ว หากไม้พี่เลี้ยงตายไป สิ่งที่เสียไปคือร่มเงา โอกาสทำให้ผักหวานป่าอ่อนแอ จึงเกิดขึ้น ..

3. การปลูกผักหวานป่ากับไม้พี่เลี้ยงในถุงเดียวกัน ..เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้ผู้ซ์้อเกิดความมั่นใจในการปลูก... ยกตัวอย่างเช่น ปลูกต้นตะขบ, ลำใย, แค ฯลฯ ไว้ในถุงเดียวกับต้นผักหวานป่า เพื่ออธิบายว่า เมื่อมีพี่เลี้ยงแล้วผักหวานป่าจะโตไว 
         ซึ่งการปลูกไม้ในถุงเดียวกันแบบนี้ ไม่ได้มีประโยชน์ใด ๆ เลย ซ้ำร้ายกลับเป็นการแย่งอาหารกันเสียเอง และเสียเงินซื้อในราคาที่สูงขึ้นมากกว่าการซื้อต้นกล้าผักหวานป่าเพียงอย่างเดียว 
         ประเด็นนี้ หลาย ๆ คนปลูกต้นผักหวานป่า ชิดโคน ซึ่งตอกย้ำควาามเชื่อผิด ๆ ว่าพี่เลี้ยงช่วยให้ผักหวานป่าโตได้ดี .. โดยจากการทดลอง เห็นว่า การมีต้นผักหวานป่า และไม้พี่เลี้ยงอยู่ด้วยกันนั้น ..ไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของผักหวานป่าเลย 

4. การตอนกิ่งผักหวานป่า เป็นทางออกสำหรับคนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดแล้วล้มเหลว สิ่งที่คนขายกิ่งตอนไม่ได้บอกกับคนซื้อมีอยู่หลายอย่างคือ 
  1. กิ่งตอนั้นเป็นกิ่งกระโดง หรือ กิ่งแขนง 
  2. เมื่อปลูกแล้วต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมความสมบูรณ์ของรากและลำต้น 2 ปี เป็นอย่างน้อย
  3. ถ้าเป็นกิ่งตอนที่เกิดจากการตอนกิ่งแขนง โดยธรรมชาติแล้วกิ่งแขนงอายุกิ่งจะสั้น เพราะผักหวานป่าเป็นต้นไม้ยืนต้นทรงสูง กิ่งแขนงที่แตกออกด้านข้างจะมีอายุสั้น และเหี่ยวทิ้งโดยธรรมชาติ / แต่เวลาคนตอน ต้องการอยากได้กิ่งตอนมาก ก็ทำการตอนทุกกิ่ง ซึ่งในหนึ่งต้นสามารถตอนได้เป็นสิบ ๆ กิ่ง แต่จะได้กิ่งกระโดงเพียง 2-3 กิ่งเท่านั้น 
  4. อัตราการรอด ของกิ่งตอนเมื่อลงปลูก ที่มีปัจจัยในข้อ 3 ที่ได้กล่าวไปแล้ว มีโอกาสเสี่ยงที่การปลูกผักหวานป่าด้วยกิ่งตอน จะได้ผลน้อย
      เมื่อประมวลผลในภาพรวมแล้ว คนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยกิ่งตอน จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะให้ยอด ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอ ๆ กับการปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงมาก และได้ผลน้อย ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น