22 พ.ค. 2560

ได้มาแล้ว เมล็ดผักหวานป่าปี 60

ปีนี้ผมได้มา 22 กิโลกรัมครับ สุกพอดีปลูก เมล็ดโตมาก อย่างที่เห็น ปลูกซ่อม แปลงเดิมที่บุรีรัมย์และที่พระยืน


15 พ.ค. 2560

ครงรอบ 2 ปี สวนผักหวานป่าบ้านพระยืน

เมื่อวันพืชมงคลปี 58 ผมเริ่มทำการปลูกผักหวานป่าที่สวนพระยืน ในส่วนของด้านหน้าสวน และเริ่มทำเงียบ ๆ โดยไม่ได้ประกาศบอกใครนัก หลาย ๆ คนก็เริ่มสงสัยว่าปลูกอะไร ทำไมต้องมีเข่ง ทำไมต้องมีต้นไม้ให้ร่มเงา และก็เริ่มเฉลยมาเรื่อย ๆ ว่าสวนแห่งนี้ ได้ผลเป็นอย่างไร ..



เมื่อเริ่มต้นปลูกผักหวานป่า ปี 58 






สวนผักหวานป่าบ้านพระยืนปี 60 

ลงมือปลูกผักหวานป่า ที่สวนผักหวานป่าบ้านเป็ด

สวนผักหวานป่าบ้านเป็ด (ผมตั้งชื่อให้เองเลย) เริ่มต้นนับ 1 แล้วครับ วันพืชมงคล ของปี 60 และผมเชื่อว่า อีก 2 ปีข้างหน้า สวนแห่งนี้จะเป็นที่มีผักหวานป่าขยายเต็มสวนไปหมด .. ผมมองเห็นอนาคตอย่างนั้นเลย เพราะด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกหลาย ๆ อย่าง ที่เอื้อต่อการเติบโตเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ และการเตรียมหลุมปลูก


มีผู้จัดการสวนผักหวานป่าบ้านพระยืนมาร่วมเป็นเกียรติในการปลูกด้วย 555


..เริ่มเห็นหนทางแล้ว..

ไม่กี่วันที่ผ่านมา อ.ชูชาติ ที่ไปดูงานสวนผักหวานป่าพระยืน หลังจากแลกเปลี่ยนวิธีการปลูกแล้ว ..แววตามีประกาย ว่าใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ที่ผ่านมาหลงทางตาม youtube ตั้งนาน ปลูกไม่สำเร็จสักที มาตอนนี้เริ่มมั่นใจมากขึ้น เลยเชิญผมไปชมสถานที่ปลูกผักหวาน โดยเริ่มปลูกแปลงเล็ก ๆ เสียก่อน เนื้อที่ประมาณสิบกว่าตารางวา (เพราะว่าสงวนไว้ทำอย่างอื่น ..) พอผมไปเห็นที่ดิน สภาพที่ดิน น้ำ แล้วฟันธงทันที ว่าได้แน่นอน 100 ด้วยสูตรดินหลวม มีไร่ธาตุ ร่วน ปลูกด้วยเมล็ด วันนี้ อ.ชูชาติ จัดรถขุด ทุ่นแรงได้เยอะเลย .. เตรียมหลุม แล้วรองก้นหลุมด้วย ใบไม้ ฟาง ปุ๋ย  ผมมีหน้าที่จัดหาเมล็ดให้อาจารย์ชูชาติได้ปลูกผักหวานตามความต้องการ  เตรียมตัวดีแบบนี้ รับรองได้ผลแน่นอนครับ ฟันธง..





เปิดสวนดูงาน

วันนี้ใกล้จะครบรอบ 2 ปี ของการปลูกผักหวานป่า ของสวนผักหวานป่าบ้านพระยืนแล้วครับ มีหลายคนให้ความสนใจแวะมาชมสวนผักหวานป่า เป็นระยะ ๆ วันนี้ก็เช่นกัน ได้รับเกียรติจาก อ.ชูชาติ ท่านเกษียณอายุแล้ว ทำสวนริมบึงบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ท่านสนใจปลูกผักหวานป่า จึงได้เดินทางมาดูที่สวนและแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการปลูก เห็นแล้ว ท่านบอกว่า ต้องลองสูตรการปลูกแบบสวนพระยืนบ้าง






10 พ.ค. 2560

มือใหม่หัดปลูกผักหวานป่า.. เริ่มต้นยังไงดี

จากที่หลาย ๆ คนโทรมาสอบถาม ว่าอยากได้เมล็ดมาปลูกผักหวานป่า ..แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไปคือการเตรียมดินและหลุมปลูกผักหวานป่า .. วันนี้เลยขอนำเสนอขั้นตอนการปลูกผักหวานป่าที่เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้คนที่สนใจปลูกผักหวานป่า เตรียมตัวในการปลูก ไม่เสียเวลา การปลูกได้ผล ไม่ปลูกเสียเที่ยว

สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ
1. เตรียมหลุมปลูก เตรียมดิน หน้าดินจะต้องหลวม เกินกว่า 50 ซม. กว้าง 50 ซม.  ถ้าหน้าดินแข็งจะต้องจัดการกับหน้าดินดานเสียก่อน จะเป็นการขุด การใช้เครื่องจักร ก็สุดแล้วแต่จะทำครับ (ถ้าดินอีสาน ลำพังการแทงเหล็กแหลม หรือการขุดตื้น ๆ ไม่ได้ผลแน่นอน)

2. เมื่อเตรียมหน้าดิน เตรียมหลุมแล้วก็จะต้องทำการเติมปุ๋ยคอก เติมอินทรีย์วัตถุในหลุมปลูก คลุกให้เข้ากัน

3. ระบบน้ำ การให้น้ำผักหวานป่าสำคัญมากในปีแรก เพราะมีโอกาสกับการปลูกแต่ว่าช่วงหน้าฝน อาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ดังนั้นจะต้องทำการป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าจัดหาน้ำยามฝนแล้ง

4. เตรียมไม้พี่เลี้ยง ให้ร่มเงา แปลงปลูกผักหวานป่านั้นจะต้องมีร่มรำไร ตำแหน่งที่ปลูกผักหวานจะต้องได้รับแสงยามเช้าไปหาเที่ยง และร่มในช่วงบ่าย

5. จัดหาเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่า  คนที่จะปลูกผักหวานป่า จะต้องจำไว้เสมอเลยว่า ผักหวานป่า ออกเมล็ด ปีละครั้งเท่านั้น โดยจะออกดอก ประมาณเดือน มกราคม - กุมภาพันธุ์ และไปสุกประมาณ กลางเดือนเมษายน - กลางเดือนพฤษภาคม เพราะฉะนั้น จะต้องหาไว้แต่เนิ่น ๆ จองไว้แต่เนิ่น ๆ  บางสวนจองตั้งแต่ปีใหม่ ..ได้รับเมล็ด เดือนพฤษภาคม ปีถัดไปก็มีครับ .. ดังนั้นนอกเหนือจากช่วงเวลาที่กล่าวมา อย่าไปหา..เพราะยังไงก็ไม่มี

ปลูกผักหวานป่าในภาคอีสาน ..สูตรเน้นการเตรียมดิน เตรียมหลุมปลูก

สวนบ้านเป็ด ขอนแก่น ตอนที่ 1
ผมกำลังจะพิสูจน์หลักการ การปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสานจะต้องเตรียมดินให้หลวม เตรียมหน้าดินให้ลึก เพื่อยืนยันว่า การปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสานนั้นจะต้องเน้นเรื่องการเตรียมดินก่อนเป็นอันดับแรก เรื่องไม้พี่เลี้ยง เป็นเรื่องรองลงมา แปลงนี้ ของอ.ชูชาติ พื้นที่ ริมบึงบ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น อาจารย์เตรียมตัวเป็นอย่างดี ใช้ดินเหนียวก้นบึง มีความอุดมสมบูรณ์มาก และขุดหลุมให้ลึก ปรุงดินก่อน และปลูกด้วยเมล็ด น่าจะเริ่มปลูกวันเสาร์อาทิตย์นี้ได้ ..แล้วจะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะครับ.






8 พ.ค. 2560

อยู่อีสานอยากปลูกผักหวานป่าให้สำเร็จ ต้องดูคลิปนี้ให้จบ

ทุกอย่างซ่อนอยู่ในนี้หมดแล้ว ..ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ 



สาเหตุที่ทำคลิปนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ความรู้คนปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสาน ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการปลูก แต่ยังอยากให้กำลังใจในการปลูกผักหวานป่า เพราะเชื่อว่าการปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป จากประสบการณ์ที่ตัวเองได้เริ่มต้นลองผิดลองถูก ทำตามคนอื่นมาก็เยอะครับ และลองสังเกต ลองหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับการศึกษาเปรียบเทียบ ทดลอง .. วันนี้ผมคิดว่าความคิดนี้ค่อย ๆ แทรกความเชื่อเรื่องผักหวานป่าจะเติบโตได้ดีนั้นจะต้องมีพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงเป็นตัวช่วยให้ผักหวานป่าเติบโต ซึ่งยังเป็นความเชื่อมากกว่าความเป็นจริง อาทิเช่น

  1. พี่เลี้ยงช่วยให้ต้นผักหวานป่าเติบโต
  2. เมื่อต้นพี่เลี้ยงตายผักหวานป่าก็จะตายไปด้วยกัน
  3. การปลูกต้นผักหวานป่า กับไม้พี่เลี้ยงในถุงเดียวกัน จะทำให้ผักหวานป่ารอดตายและเติบโต
  4. การตอนกิ่งผักหวานป่า เป็นทางออกสำหรับคนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดแล้วล้มเหลว
ซึ่งผมได้ทำคลิปแต่ละคลิปเพื่อเฉลยความเป็นจริงที่หลาย ๆ คนหลงเชื่อกันมาโดยตลอด เหมือนความเชื่อต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว...

ผมจะอธิบายเหตุผลของการเติบโต และการตั้งข้อสังเกตในแต่ละประเด็น
1. พี่เลี้ยงช่วยให้ผักหวานโต ... ความเชื่อนี้ถูกเพียง 50 %  อันเนื่องจาก ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นที่ชอบสิ่งแวดล้อม ครึ่งร่ม ครึ่งแดด ไม่ชอบแสงแดดจัดจนเกินไป และไม่ชอบอุณหภูมิที่สูงเกินไป ดังนั้นผักหวานป่าจะโตได้ดี จะต้องมีแสงแดดที่พอเหมาะ ซึ่งผมแนะนำว่าควรเป็นแสงแดดยามเช้าไปหาช่วงเที่ยง ในช่วงบ่ายเป็นแสงแดดที่ให้อุณหภูมิสูง ซึ่งถ้าหากมีแสงแดดตลอดทั้งวัน จะทำให้เกิดอาการใบเหลือง หรือ ที่ผมเรียกว่าอาการ "เหลืองแดด"  (ซึ่งจะอธิบายต่อในข้อที่ 2)

         ส่วนความเชื่อที่ว่ารากของต้นไม้พี่เลี้ยงจะช่วยให้อาหารกับต้นผักหวานป่า ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมากกว่าความจริง ..เพราะจากการทดลอง พบว่า ต้นผักหวานป่าที่ไม้พี่เลี้ยงเช่นกัน ในสภาพดินที่แตกต่างกัน  การเติบโตของผักหวานป่าแตกต่างกัน กล่าวคือ 
           - ในสภาพดินหลวม มีไม้พี่เลี้ยง ผักหวานป่าโตได้ดี 
           - ในสภาพหน้าดินตื้น มีไม้พี่เลี้ยงชนิดเดียวกัน ผักหวานป่ามีอัตราการเติบโตต่ำ

2. เมื่อต้นพี่เลี้ยงตาย ผักหวานป่าก็จะตายไปด้วยกัน ประเด็นนี้ เป็นความเชื่อที่ผิด 100% เลยครับ เพราะว่าพี่เลี้ยงผักหวานป่า มีหน้าที่หลักคือ บังร่มเงา ใหักับต้นผักหวานป่า  ในขณะที่ ผักหวานป่าเองนั้นก็ต้องการแสดงแดดแบบรำไร และถ้าหากได้รับแสงแดดตลอดเวลาจะเกิดอาการเหลืองแดด สะสมนาน ๆ จะทำให้การเติบโตชะงัก และตายในที่สุด 
         ด้วยเหตุผลนี้ก็เลยทำให้หลายคนเชื่อว่า เมื่อพี่เลี้ยงตายแล้ว ผักหวานป่าก็จะตายไปด้วย .. ความเป็นจริงแล้ว พี่เลี้ยงไม่ได้ช่วยให้ผักหวานป่าอยู่รอด หรือตายไป เพราะหน้าที่หลักของไม้พี่เลี้ยงคือให้ร่มเงา เพราะฉะนั้นแล้ว หากไม้พี่เลี้ยงตายไป สิ่งที่เสียไปคือร่มเงา โอกาสทำให้ผักหวานป่าอ่อนแอ จึงเกิดขึ้น ..

3. การปลูกผักหวานป่ากับไม้พี่เลี้ยงในถุงเดียวกัน ..เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้ผู้ซ์้อเกิดความมั่นใจในการปลูก... ยกตัวอย่างเช่น ปลูกต้นตะขบ, ลำใย, แค ฯลฯ ไว้ในถุงเดียวกับต้นผักหวานป่า เพื่ออธิบายว่า เมื่อมีพี่เลี้ยงแล้วผักหวานป่าจะโตไว 
         ซึ่งการปลูกไม้ในถุงเดียวกันแบบนี้ ไม่ได้มีประโยชน์ใด ๆ เลย ซ้ำร้ายกลับเป็นการแย่งอาหารกันเสียเอง และเสียเงินซื้อในราคาที่สูงขึ้นมากกว่าการซื้อต้นกล้าผักหวานป่าเพียงอย่างเดียว 
         ประเด็นนี้ หลาย ๆ คนปลูกต้นผักหวานป่า ชิดโคน ซึ่งตอกย้ำควาามเชื่อผิด ๆ ว่าพี่เลี้ยงช่วยให้ผักหวานป่าโตได้ดี .. โดยจากการทดลอง เห็นว่า การมีต้นผักหวานป่า และไม้พี่เลี้ยงอยู่ด้วยกันนั้น ..ไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของผักหวานป่าเลย 

4. การตอนกิ่งผักหวานป่า เป็นทางออกสำหรับคนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดแล้วล้มเหลว สิ่งที่คนขายกิ่งตอนไม่ได้บอกกับคนซื้อมีอยู่หลายอย่างคือ 
  1. กิ่งตอนั้นเป็นกิ่งกระโดง หรือ กิ่งแขนง 
  2. เมื่อปลูกแล้วต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมความสมบูรณ์ของรากและลำต้น 2 ปี เป็นอย่างน้อย
  3. ถ้าเป็นกิ่งตอนที่เกิดจากการตอนกิ่งแขนง โดยธรรมชาติแล้วกิ่งแขนงอายุกิ่งจะสั้น เพราะผักหวานป่าเป็นต้นไม้ยืนต้นทรงสูง กิ่งแขนงที่แตกออกด้านข้างจะมีอายุสั้น และเหี่ยวทิ้งโดยธรรมชาติ / แต่เวลาคนตอน ต้องการอยากได้กิ่งตอนมาก ก็ทำการตอนทุกกิ่ง ซึ่งในหนึ่งต้นสามารถตอนได้เป็นสิบ ๆ กิ่ง แต่จะได้กิ่งกระโดงเพียง 2-3 กิ่งเท่านั้น 
  4. อัตราการรอด ของกิ่งตอนเมื่อลงปลูก ที่มีปัจจัยในข้อ 3 ที่ได้กล่าวไปแล้ว มีโอกาสเสี่ยงที่การปลูกผักหวานป่าด้วยกิ่งตอน จะได้ผลน้อย
      เมื่อประมวลผลในภาพรวมแล้ว คนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยกิ่งตอน จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะให้ยอด ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอ ๆ กับการปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงมาก และได้ผลน้อย ..

7 พ.ค. 2560

ฉลองสวนผักหวานป่าพระยืน ครบ 2 ปี (สวนด้านหน้า)

เมื่อวันพืชมงคลปี 58 เริ่มต้นปลูกผักหวานป่า จำนวน 2 งาน กว่า 550 หลุมปลูก วันนี้ครบรอบ 2 ปี พอดิบพอดี เลยถือโอกาสฉลอง พาคุณยายของน้องเปรม (เจ้าของสวนตัวจริง) มาเก็บผักหวานป่า คุณยาย ไม่ค่อยได้มาสวนเท่าไหร่ จะมาก็นาน ๆ หน ปีนึงสัก 1 ครั้งได้ เพราะว่าเห็นความหลังครั้นคุณตามีชีวิตอยู่ก็อด รำลึกความหลังไม่ได้ เลยไม่ค่อยอยากจะมาสักเท่าไหร่นัก วันนี้ คุณยายอยากมาชมความสำเร็จของการปลูกผักหวานป่าที่สวนพระยืน ที่ลูก ๆ ได้สร้างมากับมือ ..คุณยายก็ยิ้มอย่างที่เห็น..





ชมสวนต้นเดือน พฤษภาคม 60

ย่างเข้า 2 ปีเต็มสำหรับสวนผักหวานป่าบ้านพระยืน ต้นผักหวานป่าที่สวนเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง วันนี้แวะเข้าสวน ซ่อมแซมประตูรั้ว และนำเสนอกวิธีการปลูกผักหวานป่าสำหรับแขกที่มาเยี่ยมชม วันนี้ได้รับเกียรติจาก อ.ชูชาติ มาจาก บ้านทุ่ม ขอนแก่น ใกล้ ๆ นี่เองครับ นอกจากนี้ยังได้แวะชมสวนสวยของ อ.ชูชาติ ที่ริมบึงบ้านเป็ด วิวดี ทำเลสวนมาก ๆ




2 พ.ค. 2560

การปลูกด้วยกิ่งตอน คนที่จะปลูกต้องฟังอีกด้านของกิ่งตอน

การปลูกด้วยกิ่งตอน .. สำหรับคนอยากมีสวนผักหวานป่า หรือปลูกด้วยเมล็ดแล้วไม่ได้ผล ปลูกด้วยต้นกล้าไม่ได้ผล เลยหันมาปลูกด้วยกิ่งตอน เพราะคิดว่ากิ่งตอนจะได้ผลสำเร็จ 100 % .. แต่ก็ไม่ได้หมายความหว่าจะต้องได้ผลตามที่เขากล่าวไว้เสมอไป .. เพราะกิ่งตอน ถ้าจะให้รอด ต้องตอนจากกิ่งกระโดง เพราะกิ่งแขนง มีอายุสั้น และไม่โต .. ที่สำคัญ กิ่งตอนไม่ได้ปลูกแล้วเก็บแกงได้เลย ต้องรอเวลาในการสะสมรากประมาณ 2 ปี