7 ก.ย. 2560

ติดตามความคืบหน้าสวนผักหวานป่า ริมบึงบ้านเป็ด

นับตั้งแต่ปลูกเมื่อวันพืชมงคล ฤกษ์งามยามดีของสวนผักหวานป่าของ อาจารย์ชูชาติ ริมบึงบ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น ตอนนี้ก็เข้าเดือนที่ 4 แล้ว ผมเองเลยถึงโอกาสไปเยี่ยมสวนสักหน่อยครับ


18 มิ.ย. 2560

ปลูกผักหวานป่าแบบยกร่อง

เมื่ออยู่ในสภาพที่เป็นดินทรายหากไม่มีเครื่องมือในการขุด สิ่งที่ทำให้หน้าดินหลวมอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างหน้าดินหลวมด้วยการยกร่อง ตัวอย่างนี้ ได้จากสวนที่ จ.อุดร ใช้รถไถ หลาย ๆ รอบ และใส่ปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ จำนวนมาก (รวมน่าจะเป็นร้อยกระสอบได้ครับ )  สวนนี้ผมให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มต้น .. เพราะเจ้าของไม่มีประสบการณ์ในการปลูกเลย ทุกอย่างเริ่มต้นจาก 0 ทั้งหมด แล้วค่อยติดตามเรื่อง ๆ นะครับ

ตอนนี้เริ่มปลูกได้ประมาณ 20 วันแล้วครับ รากเริ่มงอก แต่รอสักพักถึงจะมีต้นอ่อน

15 มิ.ย. 2560

สวนผักหวานป่าพ่อบุญพร้อม(บุรีรัมย์) ตอนกิ่งได้ตอนอายุปีเศษ ..แต่ทำเพียงแค่อยากรู้

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เข้าหน้าฝน ผมมีความอยากรู้ อยากลอง ว่าผักหวานป่าที่เราสามารถทำให้มันโตได้ในช่วงของการปลูกปีแรก ๆ นั้น เราจะต่อยอดการขยายพันธ์ุด้วยวิธีการตอน โดยที่เลือกตอนกิ่งในต้นผักหวานป่าที่อายุไม่ถึง 2 ปี ว่ามันจะเป็นอย่างไร ..ผลที่ได้เห็นคือ ตอนกิ่งได้ แต่เมื่อได้ลองตอนกิ่งอย่างต่อเนื่องและเอาต้นกล้าจากกิ่งตอนมาลงปลูกแล้ว ก็รู้ ๆ หลาย ๆ คำตอบ ทำให้ผมกลับไปสรุปการปลูกผักหวานป่าแบบเป็นขั้นตอนคือ สำคัญที่สุดคือ หน้าดินหลวม ลึก มีแร่ธาตุ ร่วน หลีกเลี่ยงดินทรายจัด จัดการหน้าดินดาน ให้ได้ เตรียมร่มเงา ไม้พี่เลี้ยง และปลูกด้วยเมล็ด (การปลูกเป็นขั้นตอนสุดท้าย)  ส่วนการตอนกิ่งนั้น ก็ทำเล่น ๆ และไม่จริงจัง ถือว่ารู้คำตอบแล้วว่า ..ตอนหน้าฝน .. สร้างความแข็งแรงต้นกล้า  เตรียมหลุมปลูก ลงปลูกกิ่งตอน สะสมความสมบูรณ์ของรากและลำต้นอีก 2 ปี .. ซึ่งตรงนี้เองทำให้ผมย้อนกลับไปเริ่มต้นที่จัดการกับดิน (โดยเฉพาะในภาคอีสาน) แล้วปลูกด้วยเมล็ด .. และผมเริ่มมาตั้งข้อสงสัย ว่าความเชื่อในการปลูกผักหวานป่าหลาย ๆ ทฤษฏี (ขอไม่กล่าวถึง) อาจจะเป็นเพียงความเชื่อและความบังเอิญ (ความเชื่อของผมก็เช่นกัน) ฝากไว้เท่านี้ครับ 


ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 สวนผักหวานป่าบ้านพระยืน

ผ่านไปแล้ว 2 ปีเต็มของสวนผักหวานป่าบ้านพระยืน และกำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 3 สวนของเรายังเป็นต้นแบบการปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสาน เน้นการเตรียมดินเป็นสิ่งสำคัญ คือ ดินจะต้องหลวม ลึก มีแร่ธาตุ ไม่เป็นดินทราย ไม้ร่มเงา ให้แสงพอดี จะเป็นต้นอะไรก็ได้ ไม้พี่เลี้ยงแต่ละชนิด ก็มีความแตกต่างกันไป  ยกตัวอย่างเช่น ตะขบ ปลูกง่าย โตไว ร่มเงาดี แต่บางทีต้องมีตัดแต่ง รักษาความชื้นได้ดี อายุปานกลาง , ต้นแค โตไว ทันใช้งาน หน้าแล้งทิ้งใบ อายุสั้น, ต้นมะขามเทศ โตช้ากว่าเขา แต่ว่าอายุยืนกว่าเขา ผักหวานป่าควรได้รับแสงแดดในครึ่งวันเช้า ส่วนแสงยามบ่ายเป็นแสงที่มีอุณหภูมิสูง ผักหวานป่าจะมีอาการใบเหลืองและการเติบโตจะช้า  

22 พ.ค. 2560

ได้มาแล้ว เมล็ดผักหวานป่าปี 60

ปีนี้ผมได้มา 22 กิโลกรัมครับ สุกพอดีปลูก เมล็ดโตมาก อย่างที่เห็น ปลูกซ่อม แปลงเดิมที่บุรีรัมย์และที่พระยืน


15 พ.ค. 2560

ครงรอบ 2 ปี สวนผักหวานป่าบ้านพระยืน

เมื่อวันพืชมงคลปี 58 ผมเริ่มทำการปลูกผักหวานป่าที่สวนพระยืน ในส่วนของด้านหน้าสวน และเริ่มทำเงียบ ๆ โดยไม่ได้ประกาศบอกใครนัก หลาย ๆ คนก็เริ่มสงสัยว่าปลูกอะไร ทำไมต้องมีเข่ง ทำไมต้องมีต้นไม้ให้ร่มเงา และก็เริ่มเฉลยมาเรื่อย ๆ ว่าสวนแห่งนี้ ได้ผลเป็นอย่างไร ..



เมื่อเริ่มต้นปลูกผักหวานป่า ปี 58 






สวนผักหวานป่าบ้านพระยืนปี 60 

ลงมือปลูกผักหวานป่า ที่สวนผักหวานป่าบ้านเป็ด

สวนผักหวานป่าบ้านเป็ด (ผมตั้งชื่อให้เองเลย) เริ่มต้นนับ 1 แล้วครับ วันพืชมงคล ของปี 60 และผมเชื่อว่า อีก 2 ปีข้างหน้า สวนแห่งนี้จะเป็นที่มีผักหวานป่าขยายเต็มสวนไปหมด .. ผมมองเห็นอนาคตอย่างนั้นเลย เพราะด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกหลาย ๆ อย่าง ที่เอื้อต่อการเติบโตเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ และการเตรียมหลุมปลูก


มีผู้จัดการสวนผักหวานป่าบ้านพระยืนมาร่วมเป็นเกียรติในการปลูกด้วย 555


..เริ่มเห็นหนทางแล้ว..

ไม่กี่วันที่ผ่านมา อ.ชูชาติ ที่ไปดูงานสวนผักหวานป่าพระยืน หลังจากแลกเปลี่ยนวิธีการปลูกแล้ว ..แววตามีประกาย ว่าใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ที่ผ่านมาหลงทางตาม youtube ตั้งนาน ปลูกไม่สำเร็จสักที มาตอนนี้เริ่มมั่นใจมากขึ้น เลยเชิญผมไปชมสถานที่ปลูกผักหวาน โดยเริ่มปลูกแปลงเล็ก ๆ เสียก่อน เนื้อที่ประมาณสิบกว่าตารางวา (เพราะว่าสงวนไว้ทำอย่างอื่น ..) พอผมไปเห็นที่ดิน สภาพที่ดิน น้ำ แล้วฟันธงทันที ว่าได้แน่นอน 100 ด้วยสูตรดินหลวม มีไร่ธาตุ ร่วน ปลูกด้วยเมล็ด วันนี้ อ.ชูชาติ จัดรถขุด ทุ่นแรงได้เยอะเลย .. เตรียมหลุม แล้วรองก้นหลุมด้วย ใบไม้ ฟาง ปุ๋ย  ผมมีหน้าที่จัดหาเมล็ดให้อาจารย์ชูชาติได้ปลูกผักหวานตามความต้องการ  เตรียมตัวดีแบบนี้ รับรองได้ผลแน่นอนครับ ฟันธง..





เปิดสวนดูงาน

วันนี้ใกล้จะครบรอบ 2 ปี ของการปลูกผักหวานป่า ของสวนผักหวานป่าบ้านพระยืนแล้วครับ มีหลายคนให้ความสนใจแวะมาชมสวนผักหวานป่า เป็นระยะ ๆ วันนี้ก็เช่นกัน ได้รับเกียรติจาก อ.ชูชาติ ท่านเกษียณอายุแล้ว ทำสวนริมบึงบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ท่านสนใจปลูกผักหวานป่า จึงได้เดินทางมาดูที่สวนและแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการปลูก เห็นแล้ว ท่านบอกว่า ต้องลองสูตรการปลูกแบบสวนพระยืนบ้าง






10 พ.ค. 2560

มือใหม่หัดปลูกผักหวานป่า.. เริ่มต้นยังไงดี

จากที่หลาย ๆ คนโทรมาสอบถาม ว่าอยากได้เมล็ดมาปลูกผักหวานป่า ..แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดไปคือการเตรียมดินและหลุมปลูกผักหวานป่า .. วันนี้เลยขอนำเสนอขั้นตอนการปลูกผักหวานป่าที่เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้คนที่สนใจปลูกผักหวานป่า เตรียมตัวในการปลูก ไม่เสียเวลา การปลูกได้ผล ไม่ปลูกเสียเที่ยว

สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ
1. เตรียมหลุมปลูก เตรียมดิน หน้าดินจะต้องหลวม เกินกว่า 50 ซม. กว้าง 50 ซม.  ถ้าหน้าดินแข็งจะต้องจัดการกับหน้าดินดานเสียก่อน จะเป็นการขุด การใช้เครื่องจักร ก็สุดแล้วแต่จะทำครับ (ถ้าดินอีสาน ลำพังการแทงเหล็กแหลม หรือการขุดตื้น ๆ ไม่ได้ผลแน่นอน)

2. เมื่อเตรียมหน้าดิน เตรียมหลุมแล้วก็จะต้องทำการเติมปุ๋ยคอก เติมอินทรีย์วัตถุในหลุมปลูก คลุกให้เข้ากัน

3. ระบบน้ำ การให้น้ำผักหวานป่าสำคัญมากในปีแรก เพราะมีโอกาสกับการปลูกแต่ว่าช่วงหน้าฝน อาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ดังนั้นจะต้องทำการป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าจัดหาน้ำยามฝนแล้ง

4. เตรียมไม้พี่เลี้ยง ให้ร่มเงา แปลงปลูกผักหวานป่านั้นจะต้องมีร่มรำไร ตำแหน่งที่ปลูกผักหวานจะต้องได้รับแสงยามเช้าไปหาเที่ยง และร่มในช่วงบ่าย

5. จัดหาเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่า  คนที่จะปลูกผักหวานป่า จะต้องจำไว้เสมอเลยว่า ผักหวานป่า ออกเมล็ด ปีละครั้งเท่านั้น โดยจะออกดอก ประมาณเดือน มกราคม - กุมภาพันธุ์ และไปสุกประมาณ กลางเดือนเมษายน - กลางเดือนพฤษภาคม เพราะฉะนั้น จะต้องหาไว้แต่เนิ่น ๆ จองไว้แต่เนิ่น ๆ  บางสวนจองตั้งแต่ปีใหม่ ..ได้รับเมล็ด เดือนพฤษภาคม ปีถัดไปก็มีครับ .. ดังนั้นนอกเหนือจากช่วงเวลาที่กล่าวมา อย่าไปหา..เพราะยังไงก็ไม่มี

ปลูกผักหวานป่าในภาคอีสาน ..สูตรเน้นการเตรียมดิน เตรียมหลุมปลูก

สวนบ้านเป็ด ขอนแก่น ตอนที่ 1
ผมกำลังจะพิสูจน์หลักการ การปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสานจะต้องเตรียมดินให้หลวม เตรียมหน้าดินให้ลึก เพื่อยืนยันว่า การปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสานนั้นจะต้องเน้นเรื่องการเตรียมดินก่อนเป็นอันดับแรก เรื่องไม้พี่เลี้ยง เป็นเรื่องรองลงมา แปลงนี้ ของอ.ชูชาติ พื้นที่ ริมบึงบ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น อาจารย์เตรียมตัวเป็นอย่างดี ใช้ดินเหนียวก้นบึง มีความอุดมสมบูรณ์มาก และขุดหลุมให้ลึก ปรุงดินก่อน และปลูกด้วยเมล็ด น่าจะเริ่มปลูกวันเสาร์อาทิตย์นี้ได้ ..แล้วจะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะครับ.






8 พ.ค. 2560

อยู่อีสานอยากปลูกผักหวานป่าให้สำเร็จ ต้องดูคลิปนี้ให้จบ

ทุกอย่างซ่อนอยู่ในนี้หมดแล้ว ..ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ 



สาเหตุที่ทำคลิปนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ความรู้คนปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสาน ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการปลูก แต่ยังอยากให้กำลังใจในการปลูกผักหวานป่า เพราะเชื่อว่าการปลูกผักหวานป่าในเขตภาคอีสานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป จากประสบการณ์ที่ตัวเองได้เริ่มต้นลองผิดลองถูก ทำตามคนอื่นมาก็เยอะครับ และลองสังเกต ลองหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับการศึกษาเปรียบเทียบ ทดลอง .. วันนี้ผมคิดว่าความคิดนี้ค่อย ๆ แทรกความเชื่อเรื่องผักหวานป่าจะเติบโตได้ดีนั้นจะต้องมีพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงเป็นตัวช่วยให้ผักหวานป่าเติบโต ซึ่งยังเป็นความเชื่อมากกว่าความเป็นจริง อาทิเช่น

  1. พี่เลี้ยงช่วยให้ต้นผักหวานป่าเติบโต
  2. เมื่อต้นพี่เลี้ยงตายผักหวานป่าก็จะตายไปด้วยกัน
  3. การปลูกต้นผักหวานป่า กับไม้พี่เลี้ยงในถุงเดียวกัน จะทำให้ผักหวานป่ารอดตายและเติบโต
  4. การตอนกิ่งผักหวานป่า เป็นทางออกสำหรับคนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดแล้วล้มเหลว
ซึ่งผมได้ทำคลิปแต่ละคลิปเพื่อเฉลยความเป็นจริงที่หลาย ๆ คนหลงเชื่อกันมาโดยตลอด เหมือนความเชื่อต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว...

ผมจะอธิบายเหตุผลของการเติบโต และการตั้งข้อสังเกตในแต่ละประเด็น
1. พี่เลี้ยงช่วยให้ผักหวานโต ... ความเชื่อนี้ถูกเพียง 50 %  อันเนื่องจาก ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นที่ชอบสิ่งแวดล้อม ครึ่งร่ม ครึ่งแดด ไม่ชอบแสงแดดจัดจนเกินไป และไม่ชอบอุณหภูมิที่สูงเกินไป ดังนั้นผักหวานป่าจะโตได้ดี จะต้องมีแสงแดดที่พอเหมาะ ซึ่งผมแนะนำว่าควรเป็นแสงแดดยามเช้าไปหาช่วงเที่ยง ในช่วงบ่ายเป็นแสงแดดที่ให้อุณหภูมิสูง ซึ่งถ้าหากมีแสงแดดตลอดทั้งวัน จะทำให้เกิดอาการใบเหลือง หรือ ที่ผมเรียกว่าอาการ "เหลืองแดด"  (ซึ่งจะอธิบายต่อในข้อที่ 2)

         ส่วนความเชื่อที่ว่ารากของต้นไม้พี่เลี้ยงจะช่วยให้อาหารกับต้นผักหวานป่า ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมากกว่าความจริง ..เพราะจากการทดลอง พบว่า ต้นผักหวานป่าที่ไม้พี่เลี้ยงเช่นกัน ในสภาพดินที่แตกต่างกัน  การเติบโตของผักหวานป่าแตกต่างกัน กล่าวคือ 
           - ในสภาพดินหลวม มีไม้พี่เลี้ยง ผักหวานป่าโตได้ดี 
           - ในสภาพหน้าดินตื้น มีไม้พี่เลี้ยงชนิดเดียวกัน ผักหวานป่ามีอัตราการเติบโตต่ำ

2. เมื่อต้นพี่เลี้ยงตาย ผักหวานป่าก็จะตายไปด้วยกัน ประเด็นนี้ เป็นความเชื่อที่ผิด 100% เลยครับ เพราะว่าพี่เลี้ยงผักหวานป่า มีหน้าที่หลักคือ บังร่มเงา ใหักับต้นผักหวานป่า  ในขณะที่ ผักหวานป่าเองนั้นก็ต้องการแสดงแดดแบบรำไร และถ้าหากได้รับแสงแดดตลอดเวลาจะเกิดอาการเหลืองแดด สะสมนาน ๆ จะทำให้การเติบโตชะงัก และตายในที่สุด 
         ด้วยเหตุผลนี้ก็เลยทำให้หลายคนเชื่อว่า เมื่อพี่เลี้ยงตายแล้ว ผักหวานป่าก็จะตายไปด้วย .. ความเป็นจริงแล้ว พี่เลี้ยงไม่ได้ช่วยให้ผักหวานป่าอยู่รอด หรือตายไป เพราะหน้าที่หลักของไม้พี่เลี้ยงคือให้ร่มเงา เพราะฉะนั้นแล้ว หากไม้พี่เลี้ยงตายไป สิ่งที่เสียไปคือร่มเงา โอกาสทำให้ผักหวานป่าอ่อนแอ จึงเกิดขึ้น ..

3. การปลูกผักหวานป่ากับไม้พี่เลี้ยงในถุงเดียวกัน ..เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้ผู้ซ์้อเกิดความมั่นใจในการปลูก... ยกตัวอย่างเช่น ปลูกต้นตะขบ, ลำใย, แค ฯลฯ ไว้ในถุงเดียวกับต้นผักหวานป่า เพื่ออธิบายว่า เมื่อมีพี่เลี้ยงแล้วผักหวานป่าจะโตไว 
         ซึ่งการปลูกไม้ในถุงเดียวกันแบบนี้ ไม่ได้มีประโยชน์ใด ๆ เลย ซ้ำร้ายกลับเป็นการแย่งอาหารกันเสียเอง และเสียเงินซื้อในราคาที่สูงขึ้นมากกว่าการซื้อต้นกล้าผักหวานป่าเพียงอย่างเดียว 
         ประเด็นนี้ หลาย ๆ คนปลูกต้นผักหวานป่า ชิดโคน ซึ่งตอกย้ำควาามเชื่อผิด ๆ ว่าพี่เลี้ยงช่วยให้ผักหวานป่าโตได้ดี .. โดยจากการทดลอง เห็นว่า การมีต้นผักหวานป่า และไม้พี่เลี้ยงอยู่ด้วยกันนั้น ..ไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของผักหวานป่าเลย 

4. การตอนกิ่งผักหวานป่า เป็นทางออกสำหรับคนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดแล้วล้มเหลว สิ่งที่คนขายกิ่งตอนไม่ได้บอกกับคนซื้อมีอยู่หลายอย่างคือ 
  1. กิ่งตอนั้นเป็นกิ่งกระโดง หรือ กิ่งแขนง 
  2. เมื่อปลูกแล้วต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมความสมบูรณ์ของรากและลำต้น 2 ปี เป็นอย่างน้อย
  3. ถ้าเป็นกิ่งตอนที่เกิดจากการตอนกิ่งแขนง โดยธรรมชาติแล้วกิ่งแขนงอายุกิ่งจะสั้น เพราะผักหวานป่าเป็นต้นไม้ยืนต้นทรงสูง กิ่งแขนงที่แตกออกด้านข้างจะมีอายุสั้น และเหี่ยวทิ้งโดยธรรมชาติ / แต่เวลาคนตอน ต้องการอยากได้กิ่งตอนมาก ก็ทำการตอนทุกกิ่ง ซึ่งในหนึ่งต้นสามารถตอนได้เป็นสิบ ๆ กิ่ง แต่จะได้กิ่งกระโดงเพียง 2-3 กิ่งเท่านั้น 
  4. อัตราการรอด ของกิ่งตอนเมื่อลงปลูก ที่มีปัจจัยในข้อ 3 ที่ได้กล่าวไปแล้ว มีโอกาสเสี่ยงที่การปลูกผักหวานป่าด้วยกิ่งตอน จะได้ผลน้อย
      เมื่อประมวลผลในภาพรวมแล้ว คนที่ปลูกผักหวานป่าด้วยกิ่งตอน จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะให้ยอด ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอ ๆ กับการปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงมาก และได้ผลน้อย ..

7 พ.ค. 2560

ฉลองสวนผักหวานป่าพระยืน ครบ 2 ปี (สวนด้านหน้า)

เมื่อวันพืชมงคลปี 58 เริ่มต้นปลูกผักหวานป่า จำนวน 2 งาน กว่า 550 หลุมปลูก วันนี้ครบรอบ 2 ปี พอดิบพอดี เลยถือโอกาสฉลอง พาคุณยายของน้องเปรม (เจ้าของสวนตัวจริง) มาเก็บผักหวานป่า คุณยาย ไม่ค่อยได้มาสวนเท่าไหร่ จะมาก็นาน ๆ หน ปีนึงสัก 1 ครั้งได้ เพราะว่าเห็นความหลังครั้นคุณตามีชีวิตอยู่ก็อด รำลึกความหลังไม่ได้ เลยไม่ค่อยอยากจะมาสักเท่าไหร่นัก วันนี้ คุณยายอยากมาชมความสำเร็จของการปลูกผักหวานป่าที่สวนพระยืน ที่ลูก ๆ ได้สร้างมากับมือ ..คุณยายก็ยิ้มอย่างที่เห็น..





ชมสวนต้นเดือน พฤษภาคม 60

ย่างเข้า 2 ปีเต็มสำหรับสวนผักหวานป่าบ้านพระยืน ต้นผักหวานป่าที่สวนเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง วันนี้แวะเข้าสวน ซ่อมแซมประตูรั้ว และนำเสนอกวิธีการปลูกผักหวานป่าสำหรับแขกที่มาเยี่ยมชม วันนี้ได้รับเกียรติจาก อ.ชูชาติ มาจาก บ้านทุ่ม ขอนแก่น ใกล้ ๆ นี่เองครับ นอกจากนี้ยังได้แวะชมสวนสวยของ อ.ชูชาติ ที่ริมบึงบ้านเป็ด วิวดี ทำเลสวนมาก ๆ




2 พ.ค. 2560

การปลูกด้วยกิ่งตอน คนที่จะปลูกต้องฟังอีกด้านของกิ่งตอน

การปลูกด้วยกิ่งตอน .. สำหรับคนอยากมีสวนผักหวานป่า หรือปลูกด้วยเมล็ดแล้วไม่ได้ผล ปลูกด้วยต้นกล้าไม่ได้ผล เลยหันมาปลูกด้วยกิ่งตอน เพราะคิดว่ากิ่งตอนจะได้ผลสำเร็จ 100 % .. แต่ก็ไม่ได้หมายความหว่าจะต้องได้ผลตามที่เขากล่าวไว้เสมอไป .. เพราะกิ่งตอน ถ้าจะให้รอด ต้องตอนจากกิ่งกระโดง เพราะกิ่งแขนง มีอายุสั้น และไม่โต .. ที่สำคัญ กิ่งตอนไม่ได้ปลูกแล้วเก็บแกงได้เลย ต้องรอเวลาในการสะสมรากประมาณ 2 ปี


21 เม.ย. 2560

ปรับแก้ระบบน้ำสปริงเกอร์

หน้าแล้ง อากาศร้อนสุด ๆ จึงต้องจัดการกับบางพื้นที่ที่น้ำไปไม่ถึง สาเหตุที่น้ำไปไม่ถึงเพราะ ว่าหนูกัดท่อน้ำ pe พรุนไปทั้งหมด ทำให้แรงดันแถวสวนผักหวานลดไปด้วย ทำให้แห้ง วันนี้เลยจัดการแก้ปัญหา ตัดบางเส้นทางออก และเพิ่มสปริงเกอร์ให้กระจายน้ำได้เยอะ ๆ ในตำแหน่งที่แห้ง

18 เม.ย. 2560

แวะชมสวนหลังสงกรานต์

เก็บภาพสวนผักหวานป่าพระยืน หลังสงกรานต์60 เกือบสองปีเต็มแล้ว ผักหวานป่ากะลังโตอย่างต่อเนื่อง

1 เม.ย. 2560

คลุมฟางเพื่อรักษาความชื้น

วันหยุดที่เหลือก็คลุมฟางให้ครบทั้งแปลง เพื่อรักษาความชื้น  เพราะช่วงนี้พายุฤดูร้อนกำลังจะเข้ามา เมื่อมีฝนแล้วก็ต้องคลุมดินให้ชื้น และรักษาความชื้นไว้ให้นาน ๆ ครับ

28 มี.ค. 2560

ผักหวานริมรั้ว

ผักหวานป่าที่ปลูกริมรั้ว มีทั้งกิ่งตอน และปลูกด้วยเมล็ด เพื่อเปรียบเทียบกัน ว่า กิ่งตอน กะปลูกด้วยเมล็ด มีข้อดี ข้อด้อยอย่างไรบ้าง.. ไดคำตอบหลายประการเลย ทั้งเรื่องราคา ระยะเวลา และการเติบโต

27 มี.ค. 2560

สวนป่า

นอกจากทำสวนผักหวานป่าแล้ว พื้นที่เหลือก็ปลูกป่าใช้สอย โดยเลือกต้นไม้นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพยูง สัก ประดู่ มะค่าโมง เน้นใช้งานระยะยาว เพราะอยากให้ลูกหลานได้มีต้นไม้ได้เลือกใช้ประโยชน์ ไม่ต้องไปซื้อจากข้างนอก อีกไม่นานก็น่าจะขึ้นทะเบียนสวนป่าได้แล้วครับ ตอนนี้อายุได้ 1 ปีเต็มแล้ว ติดแล้ว ต้นกำลังโตได้ดีครับ

26 มี.ค. 2560

พี่เลี้ยงหรือดินหลวมที่กำหนดการโตของผักหวานป่า

จากประสบการณ์โดยตรงที่ปลูกมาแล้วหลาย ๆ สวน ไม่ว่าจะเป็นสวนผักหวานป่าพ่อบุญพร้อม ต่อมาปลูกที่สวนพระยืนแปลงที่ 1 และแปลงที่ 2 สภาพดินหลวม ร่วน กำหนดการโตของผักหวานอย่างแท้จริง ..ผมเชื่ออย่างนั้น ส่วนพี่เลี้ยง ก็แค่ให้ร่มเงา..


การเดินทางมา 1 ปี 10 เดือน

เริ่มต้นกับการปลูกผักหวานป่า เมื่อวันพืชมงคล เดือนพฤษภาคม เมื่อปี 2558 เกือบสองปีที่ผ่านมาแล้ว วันแรก ๆ ที่ทำ ก็ไม่ค่อยมันใจว่าจะได้ผลหรือเปล่า แต่ก็เพราะด้วยความที่ใจรักการปลูกผักหวานป่า ก็เลยเดินหน้าทำต่อไปเรื่อย ๆ ลงแรง และใส่ใจดูแล วันนี้รวมแล้วก็ 1 ปี กับอีก 10 เดือน รู้สึกภูมิใจกับสวนผักหวานป่าจำนวน 550 หลุมปลูก ถึงจะมีตายบ้าง แคะแกรนบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วน่าพอใจมาก ๆ กับการปลูกด้วยวิธีดินหลวม และดินร่วม มีแร่ธาตุที่สมบูรณ์


25 มี.ค. 2560

ปูฟางคลุมดิน

เมื่อดายหญ้าเรียบร้อยแล้วก็ปูด้วยฟางเพื่อคุงดิน รักษาความชื้น และคลุมหญ้าด้วยครับ

ปลูกผักหวานกับพี่เลี้ยงในหลุมเดียวกันไม่ได้ช่วยให้โตไว

ผมเห็นหลาย ๆ คนปลูกผักหวานป่ากับไม้พี่เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็น ตะขบ ลำใย ต้นแค ปลูกแทบจะอยู่ในหลุมเดียวกันเลย ด้วยความเชื่อที่ว่า รากของต้นไม้พี่เลี้ยงจะช่วยให้ผักหวานป่าโตไว .. ผมก็เลยพิสูจน์ให้เห็นเลยว่า ไม้พี่เลี้ยงนั้นให้แค่ร่มเงา ไม่ได้มีรากให้อาหารกันและกัน .. ปัจจัยสำคัญของการเติบโตของผักหวานป่าคือ สภาพดิน ร่วน หลวม และหน้าดินลึก ครับ.. ผมฟันธง

24 มี.ค. 2560

บอกเล่าเคล็ดลับการปลูกผักหวานป่าที่ สวนผักหวานป่าพระยืนได้เลือกใช้ และเป็นวิธีที่เหมาะกับสภาพดินในภาคอีสาน การปลูกผักหวานป่าที่เติบโตได้ดีในช่วงปีแรก ๆ นั้นจะต้องเน้นที่ดินเป็นหลัก ส่วนไม้พี่เลี้ยงนั้นจะเป็นเพียงร่มเงา

20 มี.ค. 2560

เก็บหลังบ้าน ขายหน้าบ้าน

เช้านี้เก็บผักหวานป่าได้อีก กิโลเศษ ๆ ตามออร์เดอร์ลูกค้า เก็บหลังบ้านตั้งแต่เช้าอากาศเย็นสบาย ๆ เพราะว่าเมื่อวานนี้ฝนตกครับ เมื่อผักหวานป่าให้ผลผลิตเราก็เหนื่อยน้อยลง การเกษตรแบบมีความสุข 


19 มี.ค. 2560

วิธีการส่งผักหวานป่า

เวลาเขาส่งผักหวานป่าไกล ๆ เขาจะใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งไว้ตรงกลางตะกร้าแล้วใส่ผักหวานรอบ ๆ และด้านบน จะทำให้ผักหวานไม่เหี่ยว และสดจนถึงแผงขายผักหวานป่า